ดีเกินไป (จบ)

.

.

คราวนี้เรามามองฝ่ายผู้เลือกกันบ้าง

พี่ป้อง ซึ่งเสน่ห์กระฉ่อนทะเลสาบ Leman วันนี้จับคู่ดูโอกับพี่เมี่ยว ซึ่งเป็นที่หมายปอง ของหนุ่มๆ ทั่วแคว้น Romande ไม่แพ้กัน นั่นก็รวมทั้งซังและซูมของเราด้วย แต่ไม่ใช่ว่าทั้งสองจะคบใครก็ได้ หากจะออกเดททั้งทีก็ต้องมี preference กันบ้าง

มาดูบทสัมภาษณ์ประกอบก่อน

  • ถาม: ถ้าให้เลือกระหว่างคนดีกับคนเลวพี่ป้องจะเลือกใครครับ
  • พี่ป้อง: พี่ว่าคนดีมันเลี่ยนไปหรือเปล่า ชีวิตไม่ตื่นเต้นเลย เอาความดีออกไปแล้วมีอย่างอื่นทดแทนดีกว่ามั๊ย
  • ถาม: ทดแทน? เช่น รวยคารม คมที่หน้าตา พาหนะสองประตู?
  • พี่ป้อง : นั่นแหละๆ ถ้ามีพวกนี้ทดแทน พี่ยอมให้เลวขึ้นเยอะๆ เลย
  • พี่เมี่ยวแทรก: จะดีเหรอพี่ป้อง หนูว่าของพวกนั้นมันแทนความดีของคนไม่ได้หรอก
  • พี่ป้อง : ได้สิเมี่ยว พี่ยอมให้เลวขึ้นสิบขุมนรกเลยถ้าผู้ชายคนนั้นจะผมยาวขึ้นอีกหนึ่งนิ้ว พูดเช็ดคำเอี้ยคำบ่อยขึ้นอีกหน่อย แบบว่าสุดท้ายแล้วพี่คงพอใจเท่ากัน ทดแทนกันได้น่ะ
  • พี่เมี่ยว : เหรอพี่ ของหนูนะถ้าความดีลดลงนิดเดียว คนนั้นก็ต้องมีอะไรมาแทนมากๆๆๆ หนูถึงจะว่าโอเค เช่น รวยขึ้นร้อยล้านนู่น
  • พี่ป้อง : แหมเธอ มันกินไม่ได้นะความดีน่ะ ของพี่รวยขึ้น 100 บาท หรือมีรอยสักเพิ่มหนึ่งรอย ก็ทดแทนได้แล้ว 555
  • คนถาม : หยุดก่อนทั้งสองคน…

จากข้อมูลที่ได้ เรามาดูเส้นความพอใจเท่ากันของพี่ทั้งสองดีกว่า

“เส้นความพอใจเท่ากัน” เป็นเส้นที่บ่งบอกว่า สำหรับคนคนหนึ่ง ทุกจุดบนเส้นจะแสดงค่าความพึงพอใจที่เท่ากันต่อของสองสิ่ง(ที่อยู่บนแกน X และ Y) นั่นคือ ถ้าหากเราลดสิ่งหนึ่งลงโดยเพิ่มอีกสิ่งหนึ่งมาแทน เราก็จะพอใจเท่าเดิมได้นั่นเอง 

หากเราให้สองสิ่งที่จะเปรียบเทียบในที่นี้เป็นคุณสมบัติชายหนุ่มในเรื่อง “ความดี” กับ “คุณสมบัติอื่นๆ” แล้ว เส้นความพอใจเท่ากันของวง 30PM (Pong&Miaw) ของเราจะเป็นอย่างไร?

รูปข้างต้นเป็นลักษณะความพอใจของทั้งสองมาดาม หมายความว่า ผู้ชายที่มีสัดส่วน (ความดี, อื่นๆ) ที่จุด A จะถูกพิจารณาว่า “น่าคบหา” เท่าเทียมกับคนที่มีสัดส่วนที่จุด B เอาเป็นว่า A กับ B ทดแทนกันได้สมบูรณ์นั่นเอง (เพราะแม้ B มีความดีน้อยลงแต่มีอย่างอื่นเพิ่มขึ้น เช่น หน้าตาดีกว่า รวยกว่า หรือ ติดคดีมากกว่า ก็เลยพอใจเท่ากับ A) 

สำหรับพี่ป้อง การที่เส้นชันมากก็เพราะความดีที่เปลี่ยนแปลงมากๆ (จากจุด A ไป Bจะเห็นความดีว่าลดลงฮวบฮาบ) ทดแทนได้ด้วยคุณสมบัติอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้นแค่นิดเดียว (จากจุด A ไป B บนแกน “อื่นๆ” เพิ่มขึ้นนิดเดียว) ความที่ชันมากแสดงทัศนคติของพี่ป้องที่มีต่อความดีว่า “กินไม่ได้” 

หากไปถามความเห็นของนักจิตวิทยา ก็อาจจะได้ว่า เพราะในวัยเด็ก พี่ป้องดูหนังแนว “โหด เลว ดี” “ผู้หญิงข้า…ใครอย่าแตะ” หรือ “เข้าแกงส์ไหนหัวหน้าตายหมด” มามาก ตอนเรียนมหาวิทยาลัยก็ยังเป็นเด็กถา’ปัตย์มาก่อน แถมยังซึมซับวัฒนธรรมยากูซ่าจากแฟนเก่ามาก็เยอะ จึงไม่แปลกที่เส้น” ชายในอุดมคติ” ของพี่ป้องจะออกมาเช่นนี้

เช่นกัน สำหรับพี่เมี่ยวที่ยกย่องคุนงามความดีของคนมาก่อนอย่างอื่น การที่จะเปลี่ยนจากจุด A ไป B โดยให้ความพอใจยังคงเท่าเดิมได้นั้น ความดีที่ลดลงเพียงนิดเดียวจึงต้องทดแทนด้วยคุณสมบัติอื่นๆ มากๆ เส้นของเราเลยลาดมากอย่างที่เห็น

ส่วนที่แสดงรูปสองเส้นก็เพราะต้องการอธิบายว่า เส้นที่สูงกว่าให้ค่าความพอใจที่มากขึ้นนั่นเอง (ความจริงแล้วในแผนภูมินี้มีหลายเส้นนับไม่ถ้วนขนานกันไปเรื่อยๆ)

 . 

ก่อนที่จะเครียดเกินและไม่มีคนอ่านต่อ (หรือเลิกอ่านกันไปแล้ว?) เรามาดูผลสรุปเลยแล้วกัน โดยเอารูปเอกซเรย์ชีวิตรักของคนทั้งสองฝ่ายมาพล็อตรวมกัน เพื่อดูดุลยภาพ

ดุลยภาพของพี่ป้องจะได้เช่นนี้

ที่จุดสัมผัส “1” คือความพอใจที่มากที่สุดเท่าที่ “พี่ป้อง” จะมีให้ซังได้ กล่าวคือ หากซังจะทำให้พี่ป้องพอใจสูงสุด ต้องทำตัวเองให้ได้พิกัดสัดส่วน (ความดี, อื่นๆ) ณ จุด 1 ส่วนสัดส่วนที่นอกเหนือจากนั้นมีแต่จะทำให้พี่ป้องพอใจน้อยลง (เส้นความพอใจเส้นต่ำลง) ซึ่งสำหรับซังก็จะได้แค่จุด 1 ไม่สามารถไปอยู่บนเส้นความพอใจที่สูงกว่าได้ จึงไม่มีความเป็นไปได้ไหนเลยที่ซังจะทำให้พี่ป้องพอใจได้มากกว่านี้ได้

ในขณะเดียวกัน หากซูมทำตัวเองให้ได้สัดส่วนที่จุด 2 จะเห็นว่ามันจะสัมผัสเส้นความพอใจของพี่ป้องที่ “สูงกว่า” ของซังได้ ซึ่งก็คือพอใจมากกว่า รักมากกว่า อยากไปเดทด้วยมากกว่านั่นเอง

หากมาดูดุลยภาพของพี่เมี่ยวบ้าง เราก็ต้องใช้แผนภูมิเส้นความพอใจเท่ากันของพี่เมี่ยวมาแปะ จะเห็นว่าพอเส้นมีความลาดมากๆ ซังจะกลับมามีภาษีดีกว่าซูมทันที คือถ้าซังมีสัดส่วน (ความดี, อื่นๆ) ที่จุด 3 ก็จะสัมผัสเส้นความพอใจที่สูงกว่าซูม ซึ่งพยายามให้ตายยังไงก็ได้แค่จุด 4 ซึ่งสัมผัสเส้นความพอใจต่ำกว่า

ที่อธิบายมาทั้งหมดนี้ให้ดูยุ่งยากและปวดสมอง เพราะต้องการแสดงให้เห็นว่า กลไกของ “การเลือก” ของชายหญิงนั้น ไม่ใช่แค่พูดขึ้นมากันลอยๆ ว่า “สเปกชั้นเป็นแบบนั้น แบบนี้” หรือเพียงแค่กล่าวกันไปว่า “ไม่มีเหตุผล ชั้นชอบของชั้นแบบนี้” แบบอธิบายไม่ได้ หรือ ยกประโยชน์ให้พรหมลิขิตกันไปข้างๆ คูๆ

แต่สิ่งเหล่านี้สามารถอธิบายที่มาที่ไปได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ โดยเครื่องมือทางคณิตศาสตร์ และ ด้วยมายากลของเศรษฐศาสตร์ 

เป็นสามศาสตร์ที่เกี่ยวโยงกับความรักเสียยิ่งกว่า ศิลปศาสตร์ ภาษาศาสตร์ หรือแม้แต่ไสยศาสตร์ เสียอีก 

.

บทสรุปนิยายรักหักเทือกเขาแอลป์ 

เราจะเห็นได้ว่าทั้งซังกับซูมดูรวมๆ แล้วแม้มีคุณสมบัติพอๆ กัน (พื้นที่ใต้เส้นโค้งเท่ากัน) แต่พี่ป้อง กลับพึงใจซูมมากกว่า ในขณะที่พี่เมี่ยวเลือกออกเดทกับซังโดยละม่อม

เห็นได้จากรูปว่า จุด 2 ของพี่ป้องนั้น ความดีน้อยกว่าจุด 1 ตั้งเยอะ แต่ว่าพี่ป้องก็ไม่สน เพราะอย่างที่เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า สำหรับพี่ป้องนั้นความรักไม่ได้มีไว้มอบให้กับคนดีเสมอไป 

พี่ป้องจึงได้แต่ลูบไล้ผมยุ่งๆ ของซูมแล้วหันมาบอกกับซังว่า

“ซัง… เธอดีเกินไป”

.

.

ดีเกินไป (2)

.

.

ขอเริ่มด้วยการแนะนำฝ่ายผู้เสนอตัวในตลาดความรักกันก่อน…

  • ซังคอมเม้นท์: อย่าเรียกอย่างนั้นเลยครับ ผมอยู่ของผมดีแล้ว
  • ซูมคอมเม้นท์: พร้อมหรือยังสาวๆ เดี๋ยวพี่พาไปโฉบ

เริ่มกันตั้งแต่เกิดมาจากท้องพ่อท้องแม่ วิ่งเล่นแถวบ้าน เติบโตร่ำเรียน ฝึกวิชาเทพวิชามาร บ่มเพาะประสบการณ์ ท่องเที่ยวผจญภัย หาเงินหาทองกันไป จนกระทั่งในที่สุดมาถึงฤดูผสมพันธุ์ออกหาคู่!  เอาเป็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่มีในชีวิตที่สั่งสมมานั่นแหละ ที่ร่ายมาทั้งหมดนั้นในทางเสดสาดเรานับว่าเป็นทรัพยากรประจำตัวเรา เป็นของส่วนตัว ไม่มีใครเอาไปได้

ซึ่ง “ทรัพยากรส่วนตัว” นี้ แต่ละคนจะมีจำกัดอยู่ในระดับหนึ่ง มากน้อยตามแต่ละคนที่เกิดมาไม่เท่าเทียมกัน ตามบุญตามกรรม

ระหว่างที่โตขึ้นมา แต่ละคนจะใช้ทรัพยากรเหล่านี้สร้างคุณสมบัติของคนคนนั้นขึ้น อันได้แก่ หน้าตา นิสัย บุคลิก ฐานะ การงาน อำนาจ ศักดิ์ศรี ศีลธรรม ความดี ฯลฯ ซึ่งในเมื่อเรามีทรัพยากรจำกัด คุณสมบัติที่สร้างได้ย่อม”จำกัด” เช่นกัน

เมื่อนำมาพล็อตลงกราฟสองมิติจะได้ดังรูปข้างล่าง และเนื่องจากในที่นี้สามารถทำให้ดูได้แค่สองมิติหรือสองแกนเท่านั้น จึงขอจัดกลุ่มคุณสมบัติมาพิจารณาเพียงสองกลุ่มคือ “ศีลธรรมความดี” กับ “คุณสมบัติอื่นๆ” (เอาที่เหลือมามัดรวมกันเลยนั่นเอง) ที่ต้องเน้นเรื่องความดีแยกออกมาก็เพราะต้องการจะอธิบายปรากฎการณ์ “ดีเกินไป” ให้รู้แจ้งและเห็นจริง

  • ซังแทรก: น่าสนใจครับ ผมกำลังทำความเข้าใจอยู่
  • ซูมแทรก: เพ้อเจ้อว่ะ อ่านแล้วง่วง ปวดหัวเว้ย

 



เส้นที่เห็นโค้งๆ นั้นแสดงขีดจำกัดของคนหนึ่งคน แสดงว่าหากทุ่มทรัพยากรทั้งหมดสร้างสมศีลธรรมความดี (ใช้เวลา ใช้เงิน ใช้โชคที่มีอยู่ทั้งหมดไปในการนี้) เราจะสามารถเป็นคนดีได้จนถึงจุด A ซึ่งจะไม่มีคุณสมบัติอย่างอื่นเลยเพราะเอาแต่สร้างสมความดีนั่นเอง

เช่นกัน หากไม่ทำดีเลยเอาแต่ไปสร้างคุณสมบัติอย่างอื่น ก็อาจจะไปได้จนถึงที่จุด B (ซึ่งกลายเป็นคนเลวบริสุทธิ์เพราะจุด B ตรงกับค่าความดีที่ 0) ดังนั้น จะเห็นว่าตามธรรมชาติแล้วสัดส่วน (คุณสมบัติอื่นๆ, ความดี) ของคนหนึ่งคนจะไม่สุดขั้วที่ Aหรือ B แต่จะอยู่ที่ใดที่หนึ่งบนเส้นโค้งหรือใต้เส้นโค้งเท่านั้น ซึ่งถ้าอยู่ใต้เส้นโค้งก็แสดงว่ายังใช้ทรัพยากรไม่เต็มที่นั่นเอง

ถึงตรงนี้ลองถามตัวเองเล่นๆ ดูว่าปัจจุบัน ตัวเราอยู่ตรงจุดไหน

  • ซังตอบตัวเอง: เราต้องเป็นคนดีกว่านี้ ต้องใกล้พิกัด A ให้ได้มากที่สุด (ไฟท์ติ้ง!!)
  • ซูมตอบตัวเอง: แกนนอนเท่านั้นว่ะ ความดีกินไม่ได้เว้ย

 

ส่วนลักษณะการโค้ง จำเป็นหรือไม่ที่จะต้องเป็นแบบนี้ คำตอบคือไม่จำเป็น ลักษณะของเส้นนี้ขึ้นอยู่กับคนเช่นกัน เพราะธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม หรือกรรมพันธุ์ อาจทำให้คนสองคนมีแนวโน้มต่อเรื่องต่างๆ ต่างกัน ยกตัวอย่างให้เห็นชัดเจนขึ้น สมมติเอาซูมกับซังมาเลี้ยงพร้อมกันตั้งแต่เกิด โตขึ้นมาอายุเท่ากัน กำหนดให้ใช้เงินในการเลี้ยงดูเท่ากัน เรียนก็เรียนโรงเรียนที่เท่ที่สุดในโลกเหมือนกัน คิดหรือไม่ว่าทั้งสองจะออกมาเหมือนกัน? คงไม่มีทาง เพราะขนาดฝาแฝดสุดท้ายยังแตกต่างกันเลย…

คนสองคนกินอาหารเท่ากันยังอ้วนมากอ้วนน้อยต่างกันเลย ฉันใดก็ฉันนั้น

ดังนั้น ในที่นี้เราจะพิจารณาเปรียบเทียบต่อระหว่างสองคน คือซูมและซัง

 

ซูมเป็นคนที่มีแนวโน้ม โหด เท่ ผมยุ่ง เตะบอล สูบบุหรี่ คุมวินมอร์’ไซค์ ส่วนซังในวัยเดียวกัน เป็นคนที่(สมมติว่า)มีแนวโน้มโอบอ้อมอารี ผมเรียบ เข้าโบสถ์ ไม่เหล้าไม่สูบ ตั้งใจเล่าเรียน ไม่คบตั้ม

ธรรมชาติที่ต่างกันทำให้เส้นของสองคนออกมาเป็นดังนี้

ตัวการที่ทำให้เส้นของซูมมีลักษณะของการโค้งแบบ slope สกีสีเขียว แต่ของซังเป็นสีแดงนั้น คือคำว่า “มีแนวโน้ม” นั่นเอง สรุปว่าในกรณีศึกษาของเรานี้ซังจะมีแนวโน้มเป็นคนดีมากกว่าโดยเปรียบเทียบ

นั่นหมายความว่า หากมีทรัพยากร (เช่น เงิน เวลา โชค โอกาส) เพิ่มขึ้นเมื่อไหร่ ซังก็จะเอาไปพัฒนาศีลธรรม มุ่งกิจกรรมเพิ่มศีลธรรมความดี ในขณะที่ซูมก็จะเอาไปเพิ่มคุณสมบัติอย่างอื่นแทน สำหรับคนโหดเท่แล้วความดีย่อมมาทีหลัง

ถาม: หากคุณมีเงินเพิ่มหนึ่งบาทจะเอาไปทำอะไร?

  • ซังตอบ: ทำทานครับ หรือไม่ก็หยอดกระปุก
  • ซูมตอบ: เข้าบ่อนสิครับ เพิ่มทุน ไม่ก็เอาไปเขวี้ยงหมา

 

และเพื่อประโยชน์ในการอธิบายต่อ จึงขอสมมติว่าทั้งซังและซูมมีทรัพยากรที่จะเอาไปพัฒนาตัวเองเท่ากัน (ในเชิงคณิตศาสตร์คือ พื้นที่ใต้เส้นโค้งเท่ากัน) ที่ต้องสมมติให้เท่ากันเพื่อความยุติธรรมในการพิจารณา

ใช่ครับ… ภายใต้ความยุติธรรมนี้ เราจะมาดูว่าหากทั้งสองคนจีบพี่ป้องพร้อมกัน พี่ป้องจะเลือกไปเดทกับใคร แล้วถ้าเป็นพี่เมี่ยวบ้าง ผลจะออกมาเหมือนกันหรือไม่?

.

.

ดีเกินไป (1)

.

.

เคยได้ยินประโยคนี้ไหม “สาวๆ ชอบแต่คนเลว”  หรือประโยคนี้ล่ะ “คนดีไม่มีที่อยู่”  โอ้ว… ช้ำใจจริงๆ

อืมม… ถ้ายังไม่เคย งั้นลองประโยคนี้  “เธอดีเกินไป…” ! 

ถ้ายังไม่เคยอีก(ก็บ้าแล้ว) ก็ขอให้ข้ามไปอ่านย่อหน้าต่อไปได้ และอวยพรขออย่าให้ได้ยินประโยคเหล่านี้กับตัวก็แล้วกัน… 

อย่างที่นักเสดสาดยืนยันมาหลายครั้ง อัน “ความรัก” ที่แท้ก็เป็นเรื่องของอุปสงค์-อุปทาน (Demand-Supply) แท้ๆ ดีๆ ไม่มีอะไรเกินเลย ไม่มีอะไรซับซ้อน คำว่า “บุพเพสันนิวาส” ก็คือ synonym ของคำว่า “ดุลยภาพของตลาด” นั่นเอง

ชาวเสดสาดคอกหนึ่งล่ะที่ไม่เชื่อคำกล่าวที่ว่า “ความรักยากหยั่งถึง ยากจะซาบซึ้งถึงความเข้าใจ” และจะคัดค้านเรื่อง “ความรักดั่งกวี หามีคำอธิบายไม่” อย่างหัวชนฝา 

แม้แต่เรื่อง “ดีเกินไป” อย่างที่เกริ่นไว้ก็สามารถนำมาอธิบายได้ อย่างมีเหตุผลทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์รองรับ !!!!! (อย่าเพิ่งตกใจขนาดนั้น)

เพราะเรื่อง “ดีเกินไป” อย่างที่เกริ่นไว้ก็สามารถนำมาอธิบายได้ อย่างมีเหตุผลทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์รองรับ ! (ตกใจแค่นี้ กำลังดี) 

มันมีเหตุผลอย่างไร?

เสดสาดสามารถอธิบายได้แน่หรือ?

ซังกับซูมมาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ได้อย่างไร?

แล้วการตัดสินใจของพี่ป้องกับพี่เมี่ยวล่ะ?

.

.

ไว้ติดตามตอนต่อไปครับ ^^

มหัศจรรย์กว่าพีระมิด

.

.

เห็นเรื่องนี้ตรงกับวันวาเลนไทน์พอดี เลยลอกมาจากบล็อกเก่าๆ แก้ไขนิดหน่อยมาให้อ่านเล่น เผื่อขำ

.

.

เคยสงสัยบ้างหรือไม่ว่าทำไมแต่ละปีเมื่อเทศกาลวันวาเลนไทน์มาถึงทีไร เราก็จะมีดอกกุหลาบจำนวนมากมายมาขายเพียงพอกับความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นหลายเท่าตัวอย่างพอดิบพอดี

ไม่ว่าจะเป็นมุมไหนของโลกเราก็จะหาซื้อดอกไม้แห่งความรักดอกแดงๆ นี้ได้ไม่ยาก

ทั้งๆ ที่ไม่เคยมีใครมาบอกคนปลูกดอกกุหลาบว่าต้องจัดหาให้ได้เท่านั้นเท่านี้ รัฐบาลก็ไม่เคยออกนโยบายเพิ่มจำนวนดอกกุหลาบในช่วงดังกล่าวแต่อย่างใด และประเทศไทยก็ไม่จำเป็นต้องนำเข้าดอกกุหลาบให้เมื่อยตุ้ม (ใครรู้มั่งว่าตุ้มคืออวัยวะส่วนใดของร่างกาย?)

ในหนังสือ pocket book ว่าด้วยเศรษฐศาสตร์สำหรับคนทั่วไปที่อ่านเข้าใจและสนุกชื่อชุด “โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี” นั้น อาจารย์วรากรณ์ สามโกเศศ ได้อธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าวและยกตัวอย่างไว้หลายกรณี จนมาถึงข้อสรุปที่(ผมปรับมาสรุปเอาเองให้เข้ากับเรื่องนี้)ว่า “กลไกราคา” คือตัวการที่สำคัญที่ทำให้เมื่อเราอยากกินหมูปิ้งก็มีหมูปิ้งขาย เมื่อเราไปเที่ยวทะเลก็มีที่พักให้ และเมื่อเดือนกุมภาพันธ์มาถึงความรักก็ถูกนำมาขายเป็นสินค้าได้อย่างลงตัว

นั่นเพราะ “ราคา” เป็นข่าวสารข้อมูลที่ส่งผ่านไปยังทุกๆ คนที่เกี่ยวข้องในกระบวนการผลิตให้สามารถตัดสินใจกระทำการต่างๆ ได้ ชาวไร่ที่ปลูกดอกกุหลาบอาจจะไม่รู้จักวันวาเลนไทน์ด้วยซ้ำ เขาเพียงแต่ปลูกดอกกุหลาบเพิ่มขึ้นเพราะมีพ่อค้ามาสั่งซื้อเพิ่มมากขึ้นและเสนอราคาให้ในระดับที่ชาวไร่พอใจก็เท่านั้น

ง่ายๆ แต่ก็น่ามหัศจรรย์…

เพื่อไม่ให้เข้าถึงวิชาเสดสาดมากเกินจนพาลเลิกอ่านไปก่อน ผมจะขอสรุปสั้นๆ เลยแล้วกันว่า “ราคา” นี่เองที่เป็น “กลไก” หรือ “สื่อกลาง” หรือ “ตัวเชื่อม” ที่สถิตย์อยู่ภายในสังคม และมีบทบาททำให้เรามีของกินของใช้ต่างๆ อย่างในทุกวันนี้ เพราะมันเป็นตัวจับคู่ให้กับผู้ซื้อ-ผู้ขาย ผู้ขาย-ผู้ผลิต ผู้ผลิต-ผู้ขายวัตถุดิบ ผู้ขายวัตถุดิบ-ผู้ผลิตวัตถุดิบ ไปจนถึง ผู้พัน-ผู้การ ผู้ชาย-ผู้หญิง  ผู้…-ผู้… อีกมากมายหลายผู้ให้ลงเอยกันได้พอดีๆ

เพราะถ้าไม่พอดี สินค้านั้นก็ไม่มีวันเกิดขึ้นมา

จะเห็นว่า ที่แท้ “กลไกราคา” ก็คือกามเทพในทางเสดสาดดีๆ นี่เอง…

เมื่อพูดถึงกามเทพก็ชวนให้นึกย้อนกลับมาเรื่องความรัก ผมเชื่อว่าหลายคนก็อาจจะเคยสงสัยเช่นกันว่าทำไมคนส่วนใหญ่ในโลกนี้เมื่ออยู่ๆ ไปก็จะพบคู่ชีวิตจนได้ ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ ไม่ว่าบางคนจะนิสัยประหลาด หน้าตาแปลกแยก พฤติกรรมหลุดวงโคจรอย่างไรขนาดไหนก็ตาม สุดท้ายก็จะหาคนรักมาเป็นคู่ตุนาหงันได้

ฟันธงได้ตรงนี้เลยว่ามันเป็นผลงานของสื่อรักติดปีกที่ต่อไปนี้ผมขอเรียกมันว่า “กลไกราคาแห่งความรัก”

อะไรคือกลไกราคาแห่งความรัก?   ถ้ามีใครกำลังคิดว่านักเสดสาดบางคนไร้สาระและก็ว่างงานเกินไป…

คุณกำลังคิดถูกแล้ว !

.

.

สมมติว่าที่คณะเสดสาดมีดาวคณะอยู่คนหนึ่ง สวย ฉลาด นิสัยดี มีฐานะ หากถามเพื่อนชายร่วมคณะ 150 คน ว่าอยากเป็นแฟนด้วยหรือไม่ อาจมีถึง 140 คนบอกว่าอยาก (อีกสิบคนเป็นตุ๊ด) ถ้าถามต่อว่าอยากเข้าไปจีบหรือไม่ จำนวนคนที่ตอบว่าอยากอาจจะลดลงเหลือ 50 คน และในภาคปฏิบัติอาจจะมีคนเข้าไปจีบจริงๆ เพียง 5 คนเท่านั้น

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ?

หากมองเป็นสินค้า (เอาอีกแล้ว! เสดสาดนี่คงจะหาความโรแมนติคไม่ได้จริงๆ) ดาวคณะคนนี้อาจจะมีราคาสูงเกินไป เกินกว่าราคาในใจของผู้ชายร้อยกว่าคนนั้น (ตัวเราหน้าตาก็แย่ เรียนไม่ดี กีฬาไม่เด่น  “no car no love!”) ขณะที่ 5 คนที่เข้าไปจีบก็คงคิดว่าตัวเองมีทรัพยากรที่เพียงพอ (ตัวเราหน้าตาทรงผมก็ดูเกาหลี มีคารมเพียงพอ หม้อก็กำลังขึ้นเงา มั่นใจซะอย่าง)

บางทีเมื่อมองทีละคนก็จะเห็นวิธีกำหนด “ราคาในใจ” แตกต่างกันไป หนึ่งในห้าคนนั้นอาจจะไม่มีอะไรเลยนอกจากความรักคลั่งไคล้ในตัวสาว อีกคนอาจจะส่องกระจกหลงตัวเองมากไปจนเห็นภาพลวงตา ในขณะที่อีกคนอาจจะมีแค่ “ต. กับ จ.” ซึ่งเจ้าตัวต่างก็บอกว่าเป็นทรัพยากรที่เหลือเฟือแล้ว

ที่เหมือนกันคือ ห้าคนนี้ลงมือจีบเพราะเชื่อว่าราคานี้ “ซื้อไหว”!

ถึงตรงนี้คงจะเริ่มมองเห็นภาพชัดขึ้นแล้วว่ากลไกราคาแห่งความรักนั้นเป็นตัวผลักดันให้คนส่วนใหญ่ตัดสินใจมองหาคู่ที่ “match” กันกับตนเองและมีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติมากกว่า  คุณคงไม่ปฏิเสธว่า ก่อนจะไปรักใครชอบใครจะไม่พิจารณาตัวเองดูก่อนบ้าง เพื่อหยั่งเชิงความเป็นไปได้ก่อน จริงไหม

และเมื่อมีความเป็นไปได้มากขึ้น ความลงเอยในความรักก็ย่อมมาถึงง่ายขึ้น…

…ด้วยประการฉะนี้

.

.

และแล้วผมก็โยงเรื่อง “กลไกราคา” จากทฤษฎีเสดสาดให้มาอธิบายเรื่องความรักได้สำเร็จ แบบงงๆ ข้างๆ คูๆ ปนเพ้อเจ้อเล็กน้อย บรรลุเป้าหมายที่ว่าเสดสาดเป็นเรื่องขำๆ ไปได้แบบฉิวเฉียด

ง่ายๆ แต่ก็น่ามหัศจรรย์…

.

.

ถึงตรงนี้หลายคนอาจจะสงสัยเหมือนผมว่า ระหว่างกลไกราคา เสดสาด และความรัก  สามสิ่งนี้ แท้จริงแล้วอะไรกันแน่ที่จะมหัศจรรย์ได้มากกว่ากัน…

ที่แน่ๆ พีระมิดชิดซ้ายครับ

.

.