กระจายความเสี่ยง

ในที่สุดก็ได้ฤกษ์ส่งการบ้านเสียที  ฮูเร่ !!!

ขอขอบคุณเพื่อน ๆ พี่  ๆ น้อง ๆ ชาวนัก(ไม่)เรียนทุกคนที่มีส่วนผลักดันให้เกิดบทความชิ้นนี้ขึ้นมา และหวังว่าบทความชิ้นนี้จะให้ทั้งสาระไปพร้อม ๆ กับความบันเทิงกับทุกคนไม่มากก็น้อยครับ

เราใช้ชีวิตอยู่กับความเสี่ยงในทุก ๆ วัน  แต่ละคนก็มีวิธีในการรับมือกับความเสี่ยงที่หลากหลายแตกต่างกันไป แต่เมื่อพูดถึงความเสี่ยงเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ เงินของเราอยู่ในธนาคารก็ยังคงมีความเสี่ยง เช่น ความเสี่ยงที่มูลค่าของเงินเราจะลดลง เนื่องจากเพิ่มไม่ทันอัตราเงินเฟ้อ ดังนั้นการลงทุนในสินทรัพย์ชนิดต่าง ๆ ที่มีผลตอบแทนและความเสี่ยงต่าง ๆ กันไป ก็เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ และการรับมือกับความเสี่ยงในการลงทุนวิธีหนึ่งคือการกระจายความเสี่ยง  ตัวอย่างยอดฮิตของการกระจายความเสี่ยงคงหนีไม่พ้นการขนส่งไข่ไก่ หากเราต้องการกระจายความเสี่ยงในการขนส่งก็เพียงไม่นำไข่ไก่รวมไว้ในตะกร้าเพียงใบเดียว ในการจัดการกับความเสี่ยงมักมีต้นทุนเพิ่มตามขึ้นมาอยู่เสมอ ในกรณีของการขนไข่ก็คงเป็นค่าตะกร้าที่เพิ่มขึ้น  ค่าแรงที่เพิ่มขึ้นหากขนส่งหลายเที่ยว เป็นต้น  แต่ทุกท่านเชื่อหรือไม่ว่า การกระจายความเสี่ยง เพื่อจัดการกับความเสี่ยงในการลงทุน ซึ่งเป็นหัวข้อของวันนี้ เราแทบไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มแต่อย่างใด

ความเสี่ยงในการลงทุนเกิดจากโอกาสที่ผลตอบแทนที่ได้รับ คลาดเคลื่อนไปจากที่นักลงทุนคาดหวังไว้  ดังเช่นการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล (Bond) เราถือว่ามีความเสี่ยงต่ำมากเพราะผลตอบแทนที่ได้มีความแน่นอนสูง (เว้นแต่รัฐบาลจะไม่มีเงินจ่าย) แต่อย่างไรก็ตามผลตอบแทนจากพันธบัตรเมื่อเปรียบเทียบกับหุ้นก็ต่ำไปด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจะเห็นได้ว่าการที่เราจะลงทุนอะไร เรามักชั่งน้ำหนักระหว่างผลตอบแทนกับความเสี่ยงเสมอ (Risk-return trade off) ถ้าเงื่อนไขอื่น ๆ เหมือนกัน เราคงเลือกลงทุนในสิ่งที่ให้ผลตอบแทนที่คาดหวัง (expected return) สูงกว่า (ผลตอบแทนที่คาดหวังนี้ เป็นผลตอบแทนที่อิงกับเหตุการณ์จริง เช่น แทงหวยเลข 1 ถึง 100 โอกาสที่จะถูกรางวัลคือ 1 ใน 100 ไม่มากไม่น้อยกว่านี้  และไม่เกี่ยวกับความมั่นใจส่วนบุคคลจากการขูดต้นกล้วยว่าต้องออกเลขนั้นเลขนี้) เราจึงสรุปได้ว่า ในการลงทุนในสินทรัพท์นั้น สินทรัพท์ที่มีความเสี่ยงสูงย่อมให้ผลตอบแทนที่คาดหวังสูงกว่าสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ

การกระจายความเสี่ยง (Diversification) ที่ดีนั้น เมื่อหุ้นตัวนึงขึ้น อีกตัวนึงควรจะลง เผื่อที่จะได้ถัวเฉลี่ยกันไป  พอมาถึงจุดนี้ บางคนอาจคิดว่า แล้วอย่างนี้จะกระจายลงทุนทำไม เดี๋ยวตัวนึงขึ้น อีกตัวก็ลง  สู้ลงทุนตัวเดียวไปเลย จะได้กำไรเน้น ๆ เพียงแค่เลือกหุ้นให้ดี ๆ ซึ่งถ้าหากเราคิดว่าเสี่ยงมากก็ไม่ต้องลงทุนโดยใช้เงินที่มีทั้งหมด แค่เจียดเงินส่วนหนึ่งไปลงทุนก็พอ ในการตอบคำถามนี้คงจำเป็นต้องลงรายละเอียดในการคำนวณตัวเลขอยู่บ้างเพื่อความเข้าใจ (ซึ่งผมเชื่อว่าในบทความทั่วไปสำหรับนักลงทุน ไม่น่าจะอธิบายในส่วนนี้แน่นอน) และหลังจากนั้นเราจะเลือกนำแต่คอนเซ็ปต์ไปใช้งานก็เพียงพอ

สมมติว่าเรามีเงิน 100 บาท และตัดสินใจลงทุนในหุ้นสองตัว คือ A และ B ตัวละ 50 บาท (จากเงินทั้งหมด 100% แบ่งลงทุนในหุ้น A คิดเป็นน้ำหนักwA = 50% หรือ 0.5 จาก 1) จากข้อมูลสถิติที่มี พบว่าหุ้น A มีผลตอบแทนเฉลี่ยหรือผลตอบแทนที่คาดหวัง (expected return)  rA= 8% และค่าเบี่ยงเบนเฉลี่ย (standard deviation) σA = 12% (ค่าเบี่ยงเบนเฉลี่ยสูง สามารถตีความได้ว่ามีความเสี่ยงสูง ที่ผลตอบแทนที่ได้จะเบี่ยงเบนหรือคลาดเคลื่อนไปมากจากค่าเฉลี่ย) และหุ้น B มี expected return 13% และ standard deviation 20% จากข้อมูลดังกล่าว หุ้นตัวแรกให้ผลตอบแทนต่ำกว่าและค่าเบี่ยงเบนเฉลี่ย (ความเสี่ยง) ต่ำกว่า

เราสามารถคำนวณข้อมูลผลตอบแทนเฉลี่ยของพอร์ต E(rp) (ซึ่งมีหุ้นสองตัว) ได้ดังนี้

ผลตอบแทนเฉลี่ย      = wArA + wBrB  

= น้ำหนักที่ลงทุนในหุ้น A x ผลตอบแทนหุ้น A + น้ำหนักที่ลงทุนในหุ้น B x ผลตอบแทนหุ้น B

= 0.5 x 8% + 0.5 x 13% = 10.50%

แต่ค่าเบี่ยงเบนเฉลี่ย (σ) = 0.5 x 12% + 0.5 x 20% ใช่หรือไม่ เราพบว่าการคำนวณค่าเบี่ยงเบนโดยคิดค่าเฉลี่ยตามปกตินั้นไม่พอ เรายังต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างผลตอบแทนหุ้นทั้งสองด้วย (correlation,ρAB) โดยถ้าความสัมพันธ์เป็นบวก หมายถึง หากผลตอบแทนหุ้น A เพิ่มขึ้น (สูงกว่าค่าเฉลี่ย) หุ้น B ก็จะเพิ่มขึ้นเช่นกัน

สูตรคำนวณ

σ= wA2 σ A2 + wB2 σ B2 + 2 wAwBσAσB ρAB

= 0.52 0.122 + 0.52 0.202 + 2 x 0.5 x 0.5 x 0.12 x 0.20 x 0.3 = 0.0172

ดังนั้น ค่าเบี่ยงเบนเฉลี่ย (Standard deviation) = σ = รากที่สองของ 0.0172 = 0.131 หรือ 13.1%

เราทำการคำนวณผลตอบแทนเฉลี่ยและค่าเบี่ยงเบนเฉลี่ยของพอร์ต ที่มีน้ำหนักที่ลงทุนในหุ้น A และหุ้น B ต่าง ๆ กันตั้งแต่ลงทุนในหุ้น A 100% หุ้น B 0% (ไม่ลงทุนในหุ้น B เลย) ถึงลงทุนในหุ้น A 0% และลงทุนในหุ้น B 100% ผลที่ได้แสดงในตารางด้านล่าง ซึ่งแสดงผลตอบแทนเฉลี่ยของพอร์ต และค่าเบี่ยงเบนเฉลี่ย สำหรับความสัมพันธ์ระหว่างหุ้น A กับหุ้น B แบบต่าง ๆ (ρAB = -1, 0, 0.3 และ 1)

จากนั้นนำค่าที่ได้ไปแสดงบนกราฟความสัมพันธ์ระหว่างผลตอบแทนเฉลี่ยของพอร์ต และค่าเบี่ยงเบนเฉลี่ย โดยจุดกลม (Marker) บนเส้นกราฟแสดงถึงพอร์ตซึ่งมีค่าน้ำหนักที่ลงทุนในหุ้น A และ B ต่าง ๆ กัน

จากกราฟ  จะเห็นว่าเมื่อเราลงทุนในหุ้น A ทั้งหมด พอร์ตของเรา (จุด E) ให้ผลตอบแทน 8% และค่าเบี่ยงเบน 12% หากเราลงทุนในหุ้น B ทั้งหมด พอร์ตของเรา (จุด F) ให้ผลตอบแทน 13% และค่าเบี่ยงเบน 20%

การกระจายความเสี่ยง (diversification) ที่สมบูรณ์ดีที่สุด (ปิดความเสี่ยงได้ทั้งหมด) คือ การที่เราสามารถสร้างพอร์ต (ณ จุดสีแดง) ที่ไม่มีความเสี่ยงเลย (σ =0) จากหุ้นที่มีความเสี่ยงทั้งสองตัวที่มีความสัมพันธ์ระหว่างกันเป็น -1 (ρ = -1) และยังให้ผลตอบแทนประมาณเกือบ ๆ 10% อีกต่างหาก  (ต่อไปนี้เราคงไม่ต้องเอาเงินฝากแบงค์อีกต่อไป) แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่มีหุ้นใดที่มีความสัมพันธ์เชิงลบ ρ = -1 เช่นนี้ เพราะหุ้นทุกตัวอยู่ในเศรษฐกิจประเทศเดียวกัน หรืออยู่ในโลกเดียวกัน เมื่อมีปัจจัยที่มากระทบตลาด หุ้นทุกตัวมักได้รับผลกระทบไปด้วยกัน  สินทรัพย์อื่นนอกจากหุ้นก็คงจะเป็นทองคำที่มีความสัมพันธ์เชิงลบ (ผลตอบแทนขึ้นลงตรงข้ามกับหุ้น ซึ่งลบไม่น่าจะถึง -0.5)

เพียงแค่เราลงทุนในหุ้นมากกว่าหนึ่งตัว เราก็ได้ประโยชน์จากการกระจายความเสี่ยงแล้ว ไม่ว่าหุ้นสองตัวนั้นจะมีความสัมพันธ์เชิงบวกหรือลบก็ตาม (เพียงแค่ไม่เท่ากับ 1 ก็พอ) สมมติว่าเราต้องการสร้างพอร์ตที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 10%  เราพบว่าพอร์ตบนเส้นสีแดง (จุด A) มีค่าเบี่ยงเบนเฉลี่ยประมาณ 1%  พอร์ตบนเส้นสีเหลือง (จุด B) 11% บนเส้นสีน้ำเงิน (จุด C) ประมาณ 12%  ซึ่งทั้งสามพอร์ตที่มีผลตอบแทน 10% เท่ากัน แต่ก็มีความเบี่ยนเบนน้อยกว่าพอร์ต (จุด D) บนเส้นสีเขียว  (ρ = 1) ที่มีค่าเบี่ยงเบนประมาณ 15% ทั้งสิ้น ดังนั้นการสร้างพอร์ต (บนเส้นสีเขียว) โดยลงทุนในหุ้นที่ความสัมพันธ์ระหว่างกัน ρ = 1  เราจะไม่ได้ประโยชน์จากการกระจายความเสี่ยงเลย นักลงทุนทุกคนคงอยากได้ผลตอบแทนสูงบนความเสี่ยงต่ำทั้งนั้น เราจึงควรเลือกลงทุนในหุ้นที่มีความสัมพันธ์ที่ยิ่งใกล้ -1 ยิ่งดี และเราต้องการจะได้ผลตอบแทนเฉลี่ยเท่าใดก็เพียงเลือกลงทุนในสัดส่วนที่ถูกต้องระหว่างหุ้นทั้งสองก็พอ

แต่ในความเป็นจริงนั้นเราสามารถเลือกนำเงินของเราไปฝากธนาคาร (ที่ให้ผลตอบแทนแน่นอน และถือว่าความเสี่ยงต่ำถึงต่ำมาก) ดังนั้น การแบ่งเงินส่วนหนึ่งไปฝากธนาคาร และอีกส่วนหนึ่งลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยง ซึ่งขณะเดียวกันก็มีแนวโน้มที่จะให้ผลตอบแทนสูงกว่า จะเกิดประโยชน์กับเรามากขึ้นหรือไม่ และในกรณีที่มีหุ้นให้เลือกมากกว่าสองตัว เราจะทำอย่างไร  รวมถึงเมื่อพิจารณาจากกราฟ เราจะเห็นว่า พอร์ตที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยสูงสุดและค่าเบี่ยงเบนสูงสุด คือ พอร์ต ณ จุด F  แต่หากว่าเราต้องการผลตอบแทนที่มากขึ้นกว่านี้ (พร้อม ๆ กับความเสี่ยงที่ย่อมมากขึ้น) เราจะทำอย่างไร  นอกจากนี้นักลงทุนแต่ละคนย่อมแตกต่างกันไป สามารถรับความเสี่ยงได้มากน้อยต่างกัน  พอร์ตที่มีสัดส่วนผลตอบแทนเฉลี่ยต่อค่าเบี่ยงเบน (ความเสี่ยง) ที่เหมาะสม ควรมีลักษณะเช่นไร  หากเรามีโอกาสพบกันอีก และผู้อ่านยังสนใจประเด็นนี้อยู่ เราคงได้พูดคุยถึงประเด็นเหล่านี้แน่นอน…

ขอบคุณทุกคนที่อ่านจนจบ ราตรีสวัสดิ์ 🙂

– – – – – – – – – – – – – – – – – – – –

Reference: “Investments” by Bodie, Kane, and Marcus, 8th Edition, 2009.